ต่อเนื่องจากบทความ ระบบคิดทางการเมืองในสังคมโลกและสังคมไทย ผมได้เกริ่นไว้ว่า ในขณะที่ ประเทศไทยคงยังไม่หลุดพ้นจากการปกครองที่ผูกขาดโดยชนชั้นนำและกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเก่า และยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมและคุกคามโดยรัฐบาลทหาร การเมืองในสังคมโลกกำลังทำอะไรกันอยู่?
บทความนี้ผมขอแบ่งปันข้อมูลและมุมมองที่ได้มาจากการเข้าร่วมโครงการอบรมการบริหารจัดการการเมืองสำหรับเยาวชน-คนรุ่นใหม่ Political Management Training (PMT) for Young Progressive ครั้งที่ 2 ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 25 คน จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย เกาหลีใต้ ติมอร์ตะวันออก และไทย เราได้เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาสังคมโลก 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การอพยพย้ายถิ่นฐาน ความยุติธรรมทางภาษี ภาวะเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และสตรีนิยมและความหลากหลายทางเพศ
1. การอพยพย้ายถิ่นฐาน (Migration)
“ประชาธิปไตยเพื่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่แบ่งเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติและสัญชาติ”
*Ellene กำลังตอบคำถามของบอย
นำเสนอโดย Ellene A. Sana ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการออพยพย้ายถิ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ และบุคลิกที่แลดูอบอุ่น มีอารมณ์ขันน่าเข้าหา เพื่อนชาวฟิลิปปินส์เรียกแกว่า “Mother Ellen’s”
จากปี 2000 ถึง 2017 จำนวนผู้อพยพย้านถิ่นฐานเพิ่มขึ้นถึง 49% ในปี 2017 มีผู้อพยพกว่า 258 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทยปัจจุบันประมาณ 3.5 เท่า)
หากติดตามข่าวสารทางสังคมคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นผู้อพยพส่งผลต่อสภาวะทางสังคมการเมืองของทุกประเทศทั่วโลก การอพยพไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางไปยังประเทศตะวันตกเท่านั้น มันเกิดขึ้นในระแวกของประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน ซึ่งการอพยพฯนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสถิติประชากร ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การจัดสรรทรัพยากรของรัฐ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศ
Ellene ได้สรุปว่า ผู้คนจำนวนมากอพยพ เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศที่พักอาศัยอยู่เดิม (C.O.O. : Country of Origin) ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเพื่อโอกาสในการประกอบอาชีพ และการสร้างความมั่งคงทางเศรษฐกิจให้กับตน เงื่อนไขทางการเมือง หรือผลพวงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องทำให้อพยพ เช่น นโยบายการกำจัดผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของประธานธิบดีดูเตอร์เต้ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คนบังกลาเทศจำนวนนึงต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน สืบเนื่องจากปัญหาโลกร้อน (ภายในปี 2050 ชาวบังคลาเทศกว่า 15 ล้านคนอาจจะต้องอพยพเนื่องจากปัจจัยนี้) เป็นต้น
ในอีกด้านนึง การอพยพเกิดจากการสนับสนุนหรือความต้องการของประเทศปลายทาง (C.O.D : Country of Destination) เนื่องจากปริมาณการเกิดของประชากรที่ลดลง การขาดผู้ใช้แรงงาน/คนทำงาน ทำให้ประเทศต่างๆมีนโยบายเชิญชวนผู้อพยพให้เข้ามาใช้ชีวิตในประเทศของตน
ปัจจัยสองส่วนนี้นี้เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิความเสมอภาค (equal right) และความเป็นอื่น (otherness) เนื่องด้วยรัฐและสังคมมักจะมีทัศนคติและการเลือกการปฏิบัติต่อการอพยพ 2 กลุ่มนี้ที่แตกต่างกัน หากอพยพเนื่องด้วยปัจจัยของประเทศเดิมที่พักอาศัย (C.O.O.) ผู้อพยพมักจะถูกตีตราและเลือกปฏิบัติด้วยทัศนคติแบบ “เพราะคุณจน คุณจึงต้องมา” ในขณะที่ผู้อพยพเนื่องด้วยความต้องการของประเทศปลายทาง (C.O.D.) ส่วนใหญ่จะได้หรับการปฏิบัติด้วยทัศนคติแบบ “เราต้องการคุณ”
Ellen ยังได้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลไร้สัญชาติ (stateless migrants) และผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรอง (undocumented migrants) ที่มักจะถูกปฏิบัติเสมือนกับ หรือยิ่งกว่าผู้ต้องสงสัยคดีอาชญากรรม เพราะรัฐมักจะมองว่าพวกเค้าคือผู้ที่ทำผิดกฎหมาย รวมถึงอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมขึ้นพื้นฐาน การถูกใช้เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม และการถูกข่มเหงโดยนายจ้าง อีกทั้งพวกเค้ามักจะไม่สามารถเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานได้อีกด้วย
ในมิติของเพศ สังคมมักจะเชื่อว่าบุคคลที่มีเพศหญิงจะอพยพและไปนำงานในครัวเรือน (domestic work) และมักจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ คนฟิลิปปินส์ที่ได้อยู่ทำงานในประเทศฮ่องกงครบกำหนดและสัญญาที่จะสมัครขอสถานะผู้อพยพถาวรได้ สุดท้ายกถูกกีดกัน และต้องเดินทางกลับประเทศ โดยไม่มีกฎหมายใดคุ้มครอง และช่วยรับรองสิทธิในการการได้ค่าตอบแทนชดเชยจากการออกจากงาน อีกทั้งเพศหญิงมักจะ ถูกมองว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง ซึ่งนำไปสู่นโยบายของรัฐที่เหมารวม เช่น การระงับการอพยพของผู้หญิงไปยังประเทศที่กำหนด (deployment ban) และการยกระดับอายุสำหรับการอพยพ เช่น จาก 18 เป็น 25 ปี เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าการเลือกปฏิบัติต่อเพศและอายุ และกีดกันบุคคลที่มีภูมิหลังและความต้องการที่แตกต่างจากกันและกัน
ประเด็นผู้อพยพในระดับสากล องค์กร ILO (International Labour Organization) ที่มีรัฐ ผู้ว่าจ้างและลูกจ้างเป็นองค์ประกอบได้กำหนดมาตรฐานของแรงงานสากลไว้ แต่ยังไม่ได้บังคับให้รัฐต่างๆลงนามสนับสนุนการใช้งาน สำหรับ UN ซึ่งเขียนมาตรฐานสวัสดิการและสิทธิของผู้อพยพไว้ในระดับพื้นฐานนั้น มีรัฐต่างๆเข้าร่วม แต่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้กับรัฐที่ยังไม่ได้ลงนามเข้าร่วมสนับสนุนได้
ประเด็นผู้อพยพยังเกี่ยวข้องกับความนิยมชมชอบการเมือง และความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของชาติ (national interest) และอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นในมนุษยธรรม เพื่อนชาวพม่าได้เล่าให้ฟังถึงความผิดหวังต่อการนิ่งเฉยของรัฐบาลอองซานซูจีต่อประเด็นโรฮิงญา การคุกคามของทหารต่อชนเผ่ากลุ่มต่างๆ เพื่อนชาวอินโดกล่าวเชิงประชดประชันว่า “ข้าพเจ้าฝันถึงโลกที่ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน”
จากการแลกเปลี่ยน ในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคม เราอยากเห็นรัฐมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อผู้อพยพ (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้ใครเข้าประเทศก็ได้ โดยไม่มีระบบการตรวจสอบและติดตาม) และรัฐที่โอบอุ้มดูแลบุคคลไร้สัญชาติ รวมถึงผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรอง เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน การที่เราไม่สามารถเลือกเกิดได้ การถูกบีบบังคับด้วยเงื่อนไขทางสังคมอาจทำให้คนๆหนึ่ง ครอบครัวหนึ่งต้องอพยพย้ายถิ่นเพื่อความอยู่รอดและชีวิตที่มีอนาคต
2. ความยุติธรรมทางภาษี (Tax Justice)
“ประชาธิปไตยเพื่อความยุติธรรมในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ”
นำเสนอโดย Tony Salvador, ทนาย ที่ปรึกษาทางกฎหมายบริษัท IDEALS ฟิลิปปินส์ Tony ได้ชวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของรัฐ ตั้งแต่ภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) / ภาษีซื้อขาย (Sale tax) ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เป็นต้น
เมื่อพูดถึงความยุติธรรมทางสังคม (social justice) ผมคุ้นเคยที่จะได้ยินเกี่ยวกับความเลื่อมล้ำทางสังคม, สิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศ, ภาวะโลกร้อน ทั้งนี้เรื่องของ Tax Justice หรือผมขอเรียกว่า ความยุติธรรมทางภาษี นั้นสำคัญไม่แพ้กัน เพราะภาษีเป็นสื่งที่ทำให้รัฐสามารถสนับสนุนและปฏิบัติโครงการต่างๆได้
หากเราต้องการสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม แต่เราไม่มีระบบภาษีที่ยุติธรรม เราอาจจะตกที่นั่งลำบากในการทำให้งบประมาณของรัฐมีความสมดุล การหาแนวร่วมสนับสนุนโครงการ และการตอบคำตอบต่อประชาชน
2 ประเด็นภาษีที่น่าสนใจที่ Tony ได้พยายามชี้แจงให้เราเข้าใจอย่างทะลุปุโปร่ง คือ ปัญหาช่องโหว่ทางกฎหมาย (loophole) ด้านภาษีรายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ และภาษีมรดก ปัญหาการเก็บภาษีจากรายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ Tony อธิบายว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นิยมหลบเลี่ยงภาษี โดยการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินกับประเทศที่มีภาษีต่ำ เปิดบัญชีและบริษัทได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องประกอบกิจกรรมที่นั่นจริง ไม่ให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และมีการรักษาความลับทางการค้าที่เข้มงวด (Tax haven) ประเทศ หรือหมู่เกาะที่เป็น tax haven มักจะแข่งกัน(ลดภาษี)สู่ก้นบึ้ง โดย Tony เรียกมันว่า the race to the bottom เพื่อดึงดูดเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตน
เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) บริษัทที่ทำธุรกิจออนไลน์ที่มีบริษัทตั้งอยู่นอกประเทศที่ทำการค้า เช่น Facebook, Amazon, Google ซึ่งมีบริษัทตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีรายได้หลักล้านล้านเหรียญสหรัฐจากการค้าขายนอกประเทศ เช่น ใน EU สามารถเลี่ยงที่จะจ่ายภาษีได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากกฎหมายภาษีของ EU ประกาศให้รัฐเรียกเก็บภาษีจากบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อบริษัทแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้เน้นค้าขายออนไลน์ ถึงแม้บริษัทดิจิทัลใช้ประโยชน์จากภาษีของรัฐใน EU ในการประกอบกิจการเช่นเดียวกับบริษัทแบบดั้งเดิม เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) การขนส่ง กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่มั่นคง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายด้านภาษีที่หลายประเทศมีอยู่นั้นล้าหลังเกินไป และไม่รองรับสภาพและระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน สำหรับการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี
ในประเด็นภาษีมรดก Tony ได้พูดถึงประเด็น ความมั่นคั่งของประธานธิบดี Donald Trump ที่ประกาศสู่สาธารณะว่าตนเป็น “self-made billionaire” หรือเศรษฐีล้านๆที่รวยขึ้นมาได้ด้วยตนเอง Tony อธิบายว่า รายได้ของ Trump ไม่ได้เกิดจากการความสำเร็จของ Trump ในการประกอบธุรกิจ หากแต่เกิดจาก 1) การสนับสนุนและการส่งมอบให้โดยบิดา 2) การหลีกเลี่ยงภาษีมรดกด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายที่ครอบครัวของ Trump ใช้ในการถ่ายโอนทรัพย์สินและสินทรัพย์จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ผ่านการตั้งบริษัทหุ่นเชิด (nominee)
แล้วช่องโหว่ทางกฏหมายเรื่องภาษีเกี่ยวกับประชาชนอย่างไร? ผลพวงของขาดรายได้ คือ รัฐมีงบประมาณที่จำกัด รัฐอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ สวัสดิการด้านสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนเป็นต้น
สำหรับประเทศไทย เรามีภาษีมรดกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 และตั้งแต่นั้นมา เราเพิ่งมีคนที่ชำระแค่คนเดียวเอง ! ที่สำคัญประเทศไทย เราอาจจะไม่ได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมทางภาษีเพียงเท่านั้น ปัญหาที่สำคัญคือ ประชาชนทั่วไป (ผู้จ่าย) ไม่ได้มีสิทธิในการร่วมในการร่วมบริหารจัดการภาษีเลย เราแทบจะไม่เคยได้รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ของภาษีที่จ่ายไป ดังนั้นสังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงถือทัศนคติต่อภาษีว่า “เลี่ยงอย่างไรได้บ้าง?”
3. ภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change)
“ประชาธิปไตยเพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและคนรุ่นถัดไป”
ณ ห้องประชุม ที่รีสอร์ทบนหุบเขา อากาศเย็นประมาณ 23-24 องศา มีลมพัดสบายๆ ซิม (เพื่อนมาเล) ได้สวมทับเสื้อคลุมบางๆ แลดูสบายตัว ไม่ทำให้รู้สึกร้อนหรือหนาวจนเกินไป Adrian Yeo (เจ้าหน้าที่พิเศษประจำกระทรวงน้ำ ดินและทรัพยากรธรรมชาติของมาเลเซีย) ผู้นำเสนอได้ให้ซิมสวมเสื้อคลุมตัวที่สอง และให้สวมทับตัวที่สาม Adrian ได้เปรียบให้เสื้อคลุมกับระดับของ ozone ที่หนามากขึ้นในขอบชั้นบรรยากาศของโลก ทำไห้ความร้อนภายใน(โลก) ไม่สามารถระบายออกไปได้มากเท่าที่ควร ยิ่งนานเข้าความร้อนภายในที่สั่งสมส่งผลให้เกิดภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ผลพวงของภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง คือ ฝนตกมากขึ้น แห้งแล้งมากขึ้น ความตรึงเครียดที่การเกิดจากการจัดการทรัพยากรน้ำ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร การอพยพย้ายถิ่นฐาน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น (กว่า 70% ของเมืองสำคัญต่างๆทั่วโลกตั้งอยู่ติดทะเล) และความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์ ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นครั้งแรกของไข้เลือดออกที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากสภาพอากาศโดยรวมที่อุ่นมากขึ้น ทำให้ยุงสามารถเคลื่อนย้ายและนำพาโรคที่ไม่เคยมีอยู่ในพื้นที่หนึ่งไปสู่ในพื้นที่หนึ่งได้
หนึ่งในหนทางแก้ไขภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยนวิธีการจัดการพลังงานทางธรรมชาติ Adrian พูดถึงการใช้พลังงานธรรมชาติ เช่น กังหันลมและโซล่าเซลล์ ซึ่งจะมีศักยภาพที่สูงมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยสภาพทางภูมิอากาศ มาเลเซียเองเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกระบบโซล่าเซลล์ลำดับที่ 2 ของโลก การลงทุนกับพลังงานทางเลือกช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อน และช่วยสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอีกด้วย
การเมืองในเวทีโลกเกี่ยวกับภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อมีข้อตกลงในการร่วมือจัดการปัญหาภาวะโลกร้อน เช่น Kyoto Protocol และ Paris Agreement แนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนนึงคือเกิดการต่อรองความรับผิดชอบ ประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่า หากจะลดมลภาวะหรือจะปรับค่าปล่อยมลภาวะ รัฐทุกประเทศควรจะรับผิดชอบร่วมกันและเท่ากัน ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องการที่จะลดน้อยกว่า จ่ายน้อยกว่า เพราะประเทศของตนกำลังพัฒนา มีความจำเป็นต้องทำเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่งคั่งแล้ว และใช้ทรัพยากรมาก่อนแล้วควรที่จะรับผิดชอบมากกว่า อีกทั้งยังมีช่องโหว่ของข้อตกลงเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้ลดปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เช่น การย้ายโรงงานและฐานการผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้วไปยังประเทศโลกที่กำลังพัฒนา เป็นต้น
แล้วประเทศต่างๆสามารถช่วยกันแก้ไขภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง?
- ปฏิบัติตามพันธสัญญาของประเทศที่จะลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ
- ลดการพึ่งพาพลังงานถ่านหินและก๊าซทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
- ปกป้องป่าธรรมชาติและปลูกป่าทดแทน
- ยกเลิกการสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิง และขยายระบบเศรษฐกิจให้ก้าวพ้นจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิง
- ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ
- ปฏิบัติตามข้อตกลงของสนธิสัญญา NDC Paris Climate
Ellen แนะนำว่า ในฐานะของประชาชน สมาชิกพรรคการเมือง หรือว่าที่นักการเมือง พวกเราสามารถร่วมกันผลักดันให้กรอบการทำงานด้านต่างๆของประเทศสอดคล้องกับแนวทางสากลเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด โดยแต่ละประเทศจะมีเอกสารกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราสามารถเริ่มจากการศึกษาจากจุดนี้ได้ เพื่อการผลักดันให้เกิดการนำมาปฏิบัติจริง
4. สตรีนิยมและความหลากหลายทางเพศวิถีและเพศสภาพ (Feminine & SOGIE : Sexual Orientation and Gender Identity or Expression)
“ประชาธิปไตยเพื่อความเสมอภาคทางเพศ”
นำเสนอโดย Carly Walker-Dawson เลขาธิการ IFM-SEI (International Falcon Movement-Socialist Educational International)
Carly ได้ชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆดังนี้
- สตรีนิยมไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ผู้หญิงเรียกร้องให้ตนมีสิทธิที่มากไปกว่าผู้ชาย แต่มันรวมถึงผู้ชายหรือบุคคลที่มีเพศอื่น เพศที่เลื่อนไหล (fluid) เรียกร้องและสนับสนุนให้เพศอื่นที่ไม่ใช่เพศชาย มีสิทธิและโอกาสทางสังคมที่เสมอภาคกันกับบุคคลที่เป็นเพศชาย
- ความพยายามที่จะตีกรอบและแปะป้ายคนไว้กับแค่ความเข้าใจต่อความเป็นหญิงและความเป็นชายแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะด้วยหลักความเชื่อตามค่านิยมและวัฒนธรรมในสังคมหรือทางศาสนา มันมักจะสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติและกดขี่เพศที่แตกต่างอยู่เสมอ
- เพศมีความแตกต่างหลากหลายและซับซ้อนมากกว่าที่เราจะสามารถตัดสินให้คนคนหนึ่งอยู่ในกรอบของเพศตามความเข้าใจของเราได้ และเพศยังมีความหลื่นไหล ไม่ตายตัว ยกตัวอย่าง คนที่มีเพศสภาพเป็นชายสมรสและใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิง สื่อสารและแสดงออกทางสังคมว่าตนเป็นผู้ชายที่ straight ในขณะที่คบหาผู้ชายอีกคนเพื่อความสัมพันธ์ทางเพศ
- หากเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะมีการแสดงออกทางเพศหรือเพศสภาพอย่างไร ทุกคนควรมีสิทธิและโอกาสในสังคมที่เท่าเทียมและเสมอภาคกัน
ผมขอใช้สื่อวีดีโอเรื่อง “พื้นที่ของเพศในการเมือง” โดยเครือข่ายคนรุ่นใหม่-พรรคอนาคตใหม่ ประกอบเนื้อหาในส่วนนี้เพิ่มเติม
นอกจากนี้แล้ว สังคมไทยยังมีประเด็นเฉพาะอื่นอีกที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของประชากรกลุ่มเฉพาะในสังคมและยังไม่เคยได้รับการแก้ไข โดยที่กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะมีโอกาสและส่วนร่วมในการหาทางออกอีกด้วย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิต อิสระและเสรีภาพของวัยรุ่นไทย
รับชมวีดีโอ ระเบียบรุกคืบ : วัยรุ่นไทยในประเทศที่ไม่เชื่อใจเรา
2 คำถามที่ผมขอทิ้งท้ายไว้ เพื่อชวนคบคิด
- หากชนะเผด็จการแล้ว สำหรับคุณ ประชาธิปไตยนั้นหมายถึงอะไร?
- หากเราให้ความหมายในข้อ 1 ที่ใกล้เคียงกัน เราจะทำงานการเมืองร่วมกันในโลกคู่ขนาดนี้ได้อย่างไร?
กันต์พงศ์ ทวีสุข
บทความที่เกี่ยวข้อง
- อ่านบทความ ระบบคิดทางการเมืองในสังคมไทยและสังคมโลก คลิกที่นี่
Photo credits : ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Soc-Dem Asia – https://www.facebook.com/SocDemAsia/