ระบบคิดทางการเมืองในสังคมไทยและสังคมโลก

จากประสบการณ์ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสนามการเมือง ในฐานะประชาชนที่ต้องการสนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคม และหนึ่งในกรรมการเครือข่ายคนรุ่นใหม่ พรรคอนาคตใหม่ ผมมักจะประสบกับความรู้สึกราวกับว่ากำลังอยู่ในโลกคู่ขนานของความเป็นประชาธิปไตยระหว่างไทยกับสากล

บริบทและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างระหว่างสังคมไทยและสังคมโลกทำให้คนต่างกลุ่มที่ผมโอกาสได้พบเจอมีมุมมองและความปรารถนาต่อความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน ในขณะที่กลุ่มนึงต่อสู้เพื่อที่จะชนะเผด็จการ และสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย อีกกลุ่มต่อสู้เพื่อสังคมที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของความแตกต่างหลากหลาย สังคมที่รับรองสิทธิขั้นพื้นที่ฐานในชีวิต และสนับสนุนโอกาสทางสังคมที่เสมอภาคสำหรับทุกคน

บทความนี้เป็นการเขียนบันทึกและแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิด โดยการเปรียบเทียบระบบคิดทางการเมืองในสังคมไทยและสังคมโลก จากการการเข้าร่วม Political Management Training (PMT) for Young Progressive ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการการเมืองสำหรับเยาวชน-คนรุ่นใหม่ฝ่ายก้าวหน้า ที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย จัดขึ้นโดยองค์กรสังคมประชาธิปไตยเอเชีย (Soc-Dem Asia)

ย้อนกลับไป PMT ครั้งที่ 1 ที่ประเทศอินโดฯ เมื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับระบบคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม (liberal) ตัวแทนจากพรรคการเมือง Fretilin อธิบายว่าประเทศติมอร์ตะวันออก (ติมอร์ เลสเต) มีอนุเสาวรีย์แห่งเสรีภาพ (Statue of Liberty) เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา แต่มันแสดงออกถึงเสรีภาพในความหมายของการได้รับอิสรภาพในปี 2542 จากที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารของอินโดนีเซีย ที่ทำให้ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกต้องอยู่ร่วมกับปัญหาความรุนแรงและการถูกคุกคามมาอย่างยาวนาน

ใน PMT ครั้งที่ 2 ตัวแทนจากพรรคแรงงานออสเตรเลีย (ALP : Australian Labor Party) ได้อธิบายว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันของออสเตรเลีย เสรีนิยม คือ กลุ่มคนที่มีระบบคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม พวกเค้ามีหลักคิดว่า อิสระและเสรีภาพเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จและความก้าวหน้าในชีวิต ในขณะที่ ALP ที่มีระบบคิดแบบทางการเมืองแบบสังคมประชาธิปไตย (social democracy) คือ กลุ่มคนที่มีความคิดและความเชื่อทางสังคมที่ก้าวหน้า

ในประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเป็นรากฐานการปกครองของสังคม กลุ่มคนที่มีระบบคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันต่อรองและประนีประนอมกันผ่านระบบรัฐสภา ระบบคิดแบบเสรีนิยมได้กลายเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในขณะที่ฝ่ายก้าวหน้า เช่น ALP ขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนสังคมให้มีความยุติธรรมและเสมอภาคสำหรับทุกคน ด้วยความปรารถนาที่จะลดการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมให้มากที่สุด และจัดสรรพยากรของรัฐให้คุ้มครองและโอบอุ้มดูแลความต้องการขึ้นพื้นฐานที่ดีสำหรับทุกคนได้

หากแบ่งระบบคิดทางการเมืองในไทยออกเป็นขั้วอย่างหยาบ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม (conservative) เชื่อในการรักษาอำนาจไว้กับชนชั้นนำในการบริหารจัดการประเทศแบบเบ็ดเสร็จ ฝ่ายก้าวหน้า (progressive) ยังคงต้องเรียกร้องให้ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่มีประชาชนเข้าสู่รัฐสภาในการบริหารจัดการอำนาจรัฐ

ปัจจุบันเราจึงสามารถทำความเข้าใจพรรคการเมืองได้จากการแบ่งจุดยืนของพรรคฯอย่างหยาบๆ เช่น เอาหรือไม่เอารัฐทหาร เพียงเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองไม่ได้ และไม่สามารถแข่งขันกันด้วยนโยบายและอุดมการณ์ของกลุ่มตนผ่านกลไกต่างๆของระบอบประชาธิปไตย เช่น การทำงานการเมืองในรัฐสภา การเสนอประชามติและการเลือกตั้งให้ประชาชนได้ตัดสินใจอย่างแท้จริง

ตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีรัฐประหาร 12 ครั้ง (ทุก 7 ปี) ผู้คนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยยังคงต้องต่อสู้ และรอคอยวันที่ประชาชนจะได้มีเสรีภาพและอำนาจในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้น “ประชาธิปไตย” ในบริบทนี้อาจหมายถึงการเป็นอิสระจากอำนาจเผด็จการ ประชาชนสามารถเข้าสู่รัฐสภาเพื่อปกครองตนเอง โดยยึดถือความต้องการของประชาชนทั่วไปเป็นสำคัญ 

ในขณะที่เราคงยังไม่หลุดพ้นจากการปกครองที่ผูกขาดโดยชนชั้นนำและกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเก่า อยู่ภายใต้การควบคุมและคุกคามโดยรัฐบาลทหาร การเมืองในสังคมโลกกำลังทำอะไรกันอยู่?

สังคมโลกกำลังแลกเปลี่ยนและร่วมกันหาแนวทางการรับมือกับปัญหาที่สำคัญแห่งยุคสมัย สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมการเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ อาทิ การอพยพย้ายถิ่นฐาน ความยุติธรรมทางภาษี ภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และสตรีนิยมและความหลากหลายทางเพศวิถีและเพศสภาพ  ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องการเมืองที่สามารถอภิปราย เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนหรือปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ในรัฐสภาอย่างเปิดเผย

สำหรับคนอีกจำนวนมาก ประเด็นเหล่านี้สำคัญต่อโอกาสและวิถีชีวิตของพวกเค้า ณ ตอนนี้ ถึงแม้อาจจะเป็นเด็นที่มีความอ่อนไหวและไม่ได้อยู่ในการเมืองกระแสหลัก แต่พวกเค้าต้องการที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นเหล่านี้ ณ ตอนนี้ไปพร้อมกับการทวงคืนประชาธิปไตย

กันต์พงศ์ ทวีสุข

วีดีโออธิบายเรื่องมุมมอง (ระบบคิด) ทางการเมือง โดยเครือข่ายคนรุ่นใหม่-พรรคอนาคตใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • อ่านเกี่ยวกับ 4 ปัญหาของสังคมโลกจากการเข้าร่วมอบรม PMT 2 ได้ในบทความ หากประชาได้ธิปไตยไม่ใช่แค่ชนะเผด็จการ มันอาจหมายถึงอะไร? คลิกที่นี่
  • บันทึก Social Democracy Asia : Political Management Training ครั้งที่ 1 คลิกที่นี่

Photo credits : ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Soc-Dem Asia – https://www.facebook.com/SocDemAsia/

Please follow and like us:
0