
ในงาน International Opendata Day 2019 จัดโดย Open Data Thailand พี่แต๊ก Klaikong Vaidhyakarn ได้ชวนผมไปร่วมพูดในงานเกี่ยวกับ Open Education ผมตอบรับด้วยความตั้งใจที่จะไปแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในมิติของการศึกษาและ open data ซึ่งผมได้นำมาเล่าต่อเป็นบทความครับ
ตอนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ผมตั้งชื่อหัวข้อด้วยความเร่งรีบไปว่า “Open Education : Open Data : Open Mind” แต่เมื่อได้มีโอกาสมาเรียบเรียงความคิดอีกที ผมจะเปลี่ยนเป็นชื่อหัวข้อ “Open Door : Open Culture : Open Data” แทนครับ
หลังจากได้มีโอกาสไปศึกษาต่อและทำงานในวิทยาลัยชุมชนชื่อชอไลน์ (Shoreline Community College) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน อยู่เป็นเวลา 3 ปี ในปี 2013 ผมกลับมาไทยโดยที่ไม่ได้มีแผนการที่จะทำอะไรกับชีวิต จึงได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งไปกับการช่วยธุรกิจของครอบครัว แต่เนื่องจากไม่สามารถทำอะไรได้มาก ผมได้นึกอยากที่จะริเริ่มสร้างงานของตนเองขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนและโอกาสของตนเอง คือ ผมมีเวลาที่จะศึกษา เรียนรู้เพิ่มเติม มีประสบการณ์ป็นนักศึกษาในวิทยาลัยชุมชนในอเมริกา มีประสบการณ์การทำงานกับนักเรียนนานาชาติ การทำงานในตำแหน่งผู้นำนักศึกษา มีความสนใจด้านการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และคอนเนคชั่นกับผู้คนในวงการด้านการศึกษานานาชาติที่อเมริกา ผมได้ตัดสินใจที่จะก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกันขึ้น ด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ในการศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการศึกษาต่อวิทยาลัยชุมชนในอเมริกา บนโลกอินเทอร์เน็ต และให้บริการกับผู้ที่สนใจ
หนึ่งในเหตุผลที่ วิทยาลัยชุมชนในอเมริกาน่าสนใจสำหรับนักศึกษาต่างชาติคือค่าเล่าเรียนที่จะช่วยประหยัดไปกว่า 1.5 – 2.2 ล้านบาท สำหรับการศึกษาต่อปริญญาตรีในอเมริกาช่วงปี 1-2
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มก่อตั้งก้อปันกันขึ้น ผมได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างรายได้ให้กับตนเอง รวมถึงโอกาสในการเติบโตขององค์กร ซึ่งการมีอยู่ของฐานข้อมูลเปิดเผยได้ช่วยให้เห็นถึงความเป็นไปได้นี้ และช่วยเป็นฐานสำหรับการต่อยอดการศึกษาและการวิเคราะห์ในการสร้าสรรค์
Open Doors
ข้อมูลเปิดเผยช่วยให้เห็นความเป็นไปได้
ช่วงก่อนที่จะเริ่ม ผมได้เข้าถึงชุดข้อมูลเปิดเผย Open Door ขององค์กร International Institute of Education (IIE) ที่สนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของอเมริกา และค้นพบว่าในแต่ละปีมีนักเรียนนานาชาติเข้าเรียนในวิทยาลัยชุมชนในอเมริกาประมาณ 95,000 คน ส่วนใหญ่จะมาจากจีน (~19.8%), เวียดนาม (~11.1%), เกาหลีใต้ (6%), ญี่ปุ่น (5.7%) และจากประเทศอื่นๆ อาทิ แม็กซิโก, เนปาล, บราซิล, อินเดีย, ซาอุฯ, ไต้หวัน (1.9%), ไนจีเรีย, อินโดนีเซีย (1.8%)
โดยจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยชุมชนในอเมริกาที่จากประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 19 ซึ่งมีจำนวน 0.9% หรือประมาณ 855 คน คิดเป็นประมาณ 30% ของจำนวนนักศึกษาไทยที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในอเมริกา ประมาณ 2,800 คน/ปี ในขณะที่นักศึกษาเวียดนามที่ศึกษาระดับปริญญาตรีกว่าเกือบ 70% ศึกษาในวิทยาลัยชุมชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเทียบอัตราส่วนนักศึกษาในวิทยาลัยชุมชนกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีจากแต่ละประเทศแล้ว หลายประเทศมีอัตราที่ใกล้เคียง หรือต่ำกว่าไทย เช่น อินโดนีเซียประมาณ 32% หรือ ไต้หวันประมาณ 27%
ปัจจัยต่างๆ อาทิ ความเชื่อมั่นต่อระบบการศึกษาภายในประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อประชากร และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐล้วนมีผลต่อตัวเลขเหล่านี้ แต่อย่างน้อยข้อมูลในส่วนนี้ได้ช่วยบอกถึงจำนวนกลุ่มเป้าหมาย และความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
อ้างอิง IIE : Open Door
Open Culture
เพราะไม่แตกต่าง เราจึงต้องอยู่กับความคับแคบและล้าหลัง
จากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ community college อเมริกาทางอินเตอร์เน็ต ผมค้นพบช่องว่างระหว่างความเข้าใจต่อวิทยาลัยชุมชนในอเมริกาที่ค่อนข้างคับแคบ ผมขอยกกระทู้นี้จาก Pantip มาเป็นตัวอย่าง
เจ้าของกระทู้แลดูสนใจที่จะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ community college (วิทยาลัยชุมชน) ในอเมริกา เพราะคิดว่าการเรียนเข้าเรียนวิทยาลัยก่อนนั้นอาจจะเป็นผลดีกับตนเอง ทั้งในด้านการเงินและโอกาสในการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัย แต่ต้องเผชิญกับมุมมองที่คับแคบต่อวิทยาลัยชุมชนในอเมริกาจากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนที่มีโอกาสเคยได้ไปศึกษาต่อในอเมริกา และดูจะเป็นมุมมองที่ล้าหลังในการมองโลกและผู้คน ซึ่งไม่แน่แปลกใจ หากคนจำนวนมากอาจเคยมีความเชื่อและมุมมองเกี่ยวกับวิทยาลัยชุมชนในอเมริกาในทางนี้
ผมจึงเลือกที่จะศึกษาและพัฒนาข้อมูลอีกชุดหนึ่ง อ้างอิงจากการศึกษาและประสบการณ์ของตนเองและเพื่อนๆที่เรียนในวิทยาลัยร่วมกัน เพื่อที่จะนำเสนอความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง
ก้อปันกันได้สร้างชุดข้อมูล เพื่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาต่ออเมริกา วิทยาลัยชุมชชนในมุมที่แตกต่าง การอธิบายหลักสูตร รีวิวอย่างเปิดเผยโดยผู้เรียน
ตัวอย่าง
- community college อเมริกา – คลิก
- หลักสูตร 2+2 University Transfer – คลิก
- หลักสูตร High School Completion – คลิก
- ประวัติ Community College: ระบบการศึกษาที่เปลี่ยนประเทศอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้ – คลิก
- 5 สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Community College – คลิก
- รวมรีวิวนักเรียนเรียนต่ออเมริกา – คลิก
นอกจากนี้แล้ว ก้อปันกันร่วมกับสหายหลายๆท่านได้ร่วมกันสร้างชุดความรู้แบบเปิดเผย ไว้เป็นทรัพยากรสำหรับการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ด้วยความตั้งใจที่จะสนับสนุนการพัฒนาแนวความคิดสากล และสังคมพหุวัฒนธรรม
เยี่ยมชมบทความบอกเล่าประสบการณ์ และวีดีโอสัมภาษณ์ในหัวข้อต่างๆบนเว็บไซต์ของก้อปันกันที่ www.korpungun.com/xbeducation
ตัวอย่างหัวข้อบทความและวีดีโอสัมภาษณ์
- วันแรกในโรงเรียนที่มีคนหลากหลาย เพื่อนใหม่
- ทำไมต้องแสดงความเห็นในห้องเรียนเยอะแยะ
- เรียนไม่ทันเพื่อน มีใครช่วยเราได้บ้าง
- เรียนเร็วกว่าเพื่อน หลักสูตรยืดหยุ่นกับเรายังไง
- ชีวิตในต่างแดน มีสิ่งสนับสนุนมากมายรอให้เราเดินเข้าไปหา
- ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์
- ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ออกไปเป็นส่วนหนึ่งของโลก
- เพื่อนรวย เพื่อนจน เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้
- อย่าเพิ่ง Stereotype กัน เราอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น
- ไปเรียนต่อต่างประเทศจะโดนเหยียดไหม?
- เมื่อการล้อเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
- ดิ่งยังไงให้ยังมีความหวัง
- คำถามถึงการเปลี่ยนแปลง
- อภิสิทธิ์คืออะไร
- ไม่ใช่แค่ไลฟ์สไตล์ในไอจี แต่เป็นอิสรภาพที่จะใช้ชีวิตข้ามพรมแดน
- เปิดใจเรียนรู้สังคมประชาธิปไตย
- ผู้ปกครองกับลูกในมิติของการออกไปใช้ชีวิต
- อำนาจนิยมเป็นอุปสรรคต่อการ
- การศึกษาและวัฒนธรรม ในสังคมไทย แคนาดาและอเมริกา เป็นต้น
Open Data
ข้อมูลเปิดเผยช่วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเพียงพอเพื่อการตัดสินใจ
ในอเมริกามีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษากว่า 4,100 แห่ง แบ่งเป็นวิทยาลัย 2 ปี ประมาณ 1,600 แห่ง รัฐธรรมนูญกลางของรัฐบาลอเมริกันกำหนดว่า รัฐจะต้องจัดให้มีการศึกษาฟรีสำหรับระดับ K – 12 คือ อนุบาลถึงมัธยมปลายเท่านั้น เมื่อนักการเมืองต้องจัดทำแผนและสร้างสมดุลของแผนงบประมาณ งบประมาณด้านศึกษาระดับอุดมศึกษามีความสุ่มเสี่ยงสูงที่จะถูกตัด
มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในอเมริกาต้องปรับตัว และหลายที่ (มากขึ้นเรื่อยๆ) ได้หันมาสนใจที่จะส่งเสริมการศึกษาต่อในอเมริกาของนักเรียนต่างชาติ เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ส่วนหลักๆ คือ
- Internationalization : การส่งเสริมการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์กันของความเป็นสากลทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาอเมริกันและนักศึกษานานาชาติได้เปิดรับและทำความเข้าใจบริบทความเป็นสากลในโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
- Enrollment : การเพิ่มขึ้นเพื่องบประมาณที่เพิ่มขึ้น และ/หรือ การรักษาไว้ซึ่งจำนวนนักศึกษาที่เข้ารับศึกษาในสถาบันให้เพียงพอที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ
ทั้งนี้แต่ละสถาบันมีแนวทางและวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป สถาบันไหนจะให้นำหนักกับข้อ 1 หรือ 2 มากกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับวิศัยทัศน์ของผู้นำ รวมถึงโอกาสและข้อจำกัดของแต่ละสถาบันในแต่ละช่วงเวลาด้วย
ท่ามกลางการแข่งขัน สถาบันต่างๆได้เลือกใช้วิธีการ และเครื่องมือต่างๆในการวางตัว หรือนำเสนอตัวเองให้เหนือกว่าคู่แข่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ สิ่งหนึ่งที่ผมประสบจาการทำงานในวงการ คือ สถาบันนำเสนอสิ่งเดียวกัน เพื่อที่จะทำให้เรารู้สึกอินและเคลิ้มไปกับการนำเสนอ โดยที่เราอาจไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งที่ถูกนำเสนอนั้นมีความเท็จจริงอย่างไร
ยกตัวอย่าง มี 2-3 วิทยาลัยจากรัฐหนึ่ง ประชาสาสัมพันธ์ว่าวิทยาลัยมีนักศึกษาโอนเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดใน California ได้เป็นอันดับหนึ่ง ผมสามารถเข้าฐานข้อมูลเปิดเผยของระบบมหาวิทยาลัยเพื่อไปตรวจสอบได้เลยว่าใครพูดจริงหรือเท็จอย่างไร
กันต์พงศ์ ทวีสุข