4 ข้อคิดจากโรงละครช้าง

จากพื้นที่ทางศิลปะ … สู่บริการในการเรียนต่อต่างประเทศ

๕ ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปที่โรงละครช้าง  เพื่อเข้าร่วมเวิร์คชอร์ปตามไก่ เวิร์คชอร์ปการเต้นร่วมสมัย ๕ วัน เรียนกับพิเชษฐ กลั่นชื่น โดยมีนักเต้นของคอมพานี และผู้เข้าร่วมอีกหลายท่าน ที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ดีจีวิทยุ นักการละคร นักศึกษาด้านการแสดง อื่นๆ

เวิร์คชอร์ปนี้เปิดโอกาสให้ผมได้สัมผัสกับร่างกายของตัวเองด้วยสติและการรับรู้ที่ดีขึ้น เราเริ่มจากการใช้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายในการเส้นวงกลม การเชื่อมโยงพลังงานจากจุดนึงสู่อีกจุดหนึ่งของร่างกาย ทำให้ผมได้รู้จักการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่การเต้นเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ใช่เพื่อเอนเทอร์เทน แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการแสดงออก โดยที่มีสติรับรู้ว่ากำลังอยู่

หลังจากนั้น ผมก็มีโอกาสได้เข้ามายังพื้นที่ของโรงละครอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้ชม ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอร์ป หรือผู้แสดงในงานบางชิ้น กิจกรรมเหล่านี้มักจะให้ประสบการณ์ใหม่กับผมอยู่เสมอ

ผมประกอบกิจการของตนเอง ชื่อบริษัทก้อปันกันจำกัด ให้คำปรึกษาและบริการในการเรียนต่อต่างประเทศ ผมต้องการที่จะบอกเล่าเกี่ยวกับ ๔ ข้อคิดที่ผมได้รับจากการนำพาตัวเองเข้ามาสู่พื้นที่ทางศิลปะ ณ โรงละครช้าง และการเป็นผู้ประกอบกิจการและการให้คำปรึกษาและบริการในการเรียนต่อต่างประเทศ

ข้อคิดที่ ๑ เกี่ยวกับการเคารพคนดู

หากมีโอกาสได้ติดตามพิเชษฐ เราอาจจะเคยได้ยินวลีว่าเคารพคนดู หรืออย่าดูถูกคนดูอยู่บ่อยครั้ง พิเชษฐมักจะพูดถึงการให้สิทธิกับคนดูในการแลกเปลี่ยน การสร้างงานที่ออกแบบมาด้วยความระมัดระวังหรือความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการชี้นำคนดู อย่าครอบงำเขาด้วยสารที่ต้องการจะสื่อ เรื่องราว หรือยัดเหยียดสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับคนดู หมายถึงความตั้งใจที่จะไม่โน้มน้าว หรือชี้แนะให้ผู้ชมมีมุมมองหรือทัศนคติที่คล้อย ตามไปกับผู้สร้าง แต่สร้างงานศิลปะควรจะมอบสิ่งใหม่ ประสบการณ์ใหม่ให้กับคนดู 

สำหรับก้อปันกัน เรามีความตั้งใจที่จะแบ่งปันข้อมูลและให้บริการด้วยแนวความคิดของการไม่ดูถูกคนดู ไม่ดูถูกผู้คน แรกเริ่มที่เริ่มประกอบกิจการนี้ เราเริ่มจากการให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนต่อวิทยาลัย(college) ในอเมริกาซึ่งมักจะถูกมองว่า มีคุณภาพการศึกษาที่ต่ำ สภาพแวดล้อมไม่ดี ไม่น่าสนใจ แตกต่างการเรียนต่อมหาวิทยาลัย (university) รวมถึงช่วงที่เริ่มให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศฟิลิปปปินส์ มักจะถูกมองว่า การเรียนการสอนอาจจะไม่มีมาตรฐาน อันตราย สำเนียงไม่ดี ดังนั้นการเรียนต่อวิทยาลัยในอเมริกาและการเรียนภาษาอังกฤษที่ฟิลิปปินส์จึงถูกมองว่า จะไม่เป็นที่ต้องการของผู้คน 

สิ่งที่เราเลือกทำคือการศึกษาและการสำรวจ เพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและรายละเอียดที่สังคมอาจจะยังไม่ได้รับรู้ หรือยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ และอิงจากประสบการณ์ของเราจากการทดลองและติดตามผล ปัจจุบันเรามีผู้ใช้บริการไปเรียนต่อวิทยาลัยในอเมริกาประมาณ 20-30 คน และมีผู้ใช้บริการไปเรียนภาษาอังกฤษที่ฟิลิปปินส์ประมาณ 100 คน + ต่อปี

เพราะเราเชื่อว่าเราจะต้องไม่ดูถูกผู้คน และตัดสินแทนผู้คนมากจนเกินไปว่า อะไรคือสิ่งที่เขาควรจะรู้สึกเห็นดีเห็นชอบด้วย ต้องการหรือไม่ต้องการอะไร เราเชื่อว่าความแตกต่างมีคุณค่า ประโยชน์ ข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน หากผู้คนได้รับทราบ ข้อมูลและรายละเอียดที่ครอบคลุม ผู้คนจะสามารถตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมกับเงื่อนไขและความต้องการของตนเองในปัจจุบันได้ 

ข้อคิดที่ ๒ เรื่องการประกอบอาชีพ

ในมุมมองอันคับแคบของผม ผมมีภาพเกี่ยวกับการเต้น ว่าเป็นงานอดิเรก งานที่ทำเพื่อการเอ็นเทอร์เทนเพียง แต่หากท่านคุ้นเคยกับโรงละครช้าง ท่านอาจจะทราบดีว่าพิเชษฐมีคอมพานีที่มีนักเต้นอาชีพ ชื่อ Pichet Klun Dance Company พวกเขามาที่โรงละคร ฝึกซ้อม พัฒนาทักษะเพื่อเตรียมตัวแสดง และสร้างสรรค์งานศิลปะ นี่คือความเป็นอาชีพ อาชีพหนึ่งที่มีอยู่ในสังคม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับสังคม

ผมได้ตั้งคำถามต่อตัวเองว่าความเป็นอาชีพในการบริการเรียนต่อต่างประเทศคืออะไร?

คำตอบของผม ณ ปัจจุบันนี้ มันคือการศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพื่อการให้ข้อมูลและคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์และเที่ยงตรง  และการบริการด้วยหลักการที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และการให้ความสำคัญกับคุณค่าด้านการศึกษาและการเรียนรู้

หนึ่งแนวทางในการทำงานที่สำคัญของก้อปันกัน คือ เราต้องการให้ข้อมูลที่ครอบคลุมและเที่ยงตรง เราเลือกที่จะโฟกัสประเทศที่ในการให้บริการโดยจำกัดไว้เพียงประเทศที่เรามีข้อมูลและความเข้าใจที่เพียงพอ ซึ่งได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเราโฟกัสที่การเรียนต่อวิทยาลัย สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาตรี ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับการเรียนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น และการเรียนต่อแคนาดา ที่เราได้เริ่มศึกษาข้อมูลและรายละเอียดตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๒

ข้อคิดที่ ๓ : หลักคิดในการทำงาน

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ซึมซับจากโรงละครช้าง คือ การใช้หลักคิดในการทำงาน งานแสดงที่ผมได้เข้าร่วมส่วนหนึ่งใช้หลักคิดเป็นหลักในการสร้างสรรค์และแสดงงาน อาทิ งานเปล่าไม่ปรุง ที่ซ้อมที่นี่มีหลักคิดในการแสดง คือ การให้ร่างกายเคลื่อนไหวตามรสชาติที่สัมผัสได้จากอาหารที่ได้ชิม งานแสดง GALA โดยเจโรม เบล (Jerome Bel) ที่ต้องการให้บุคคลที่แตกต่างหลากหลายทางกายภาพ ภูมิหลังและอัตลักษณ์ในด้านต่างๆได้แสดงออกด้วยการเต้นในงานแสดงชิ้นนี้ได้

ในการทำงาน ผมตั้งใจและพยายามที่จะใช้หลักคิดในการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการทำงานของบริษัท ฝึกและอบรมเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการให้อำนาจการตัดสินใจกับเจ้าหน้าที่พนักงาน  โดยเราให้ความสำคัญกับแก่นคุณค่า 3 ข้อ คือ

  1. ความเที่ยงตรงของข้อมูล : เราตั้งใจที่จะให้ข้อมูลและรายละเอียดกับผู้ใช้บริการที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อเลี่ยงความเข้าใจผิด และเอื้อให้เกิดประโยชน์และความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ
  2. ความเป็นมืออาชีพในการให้บริการด้านการศึกษา : เราคัดเลือกสถาบันที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรและสถาบัน ให้บริการด้วยความใส่ใจต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ 
  3. เปิดกว้างและสนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย : เรามีเจตนาที่จะส่งเสริมการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมผ่านการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อเพื่อส่งมอบประสบการณ์ศึกษาต่อต่างประเทศที่จะได้เรียนรู้ตนเองและสังคมโลก 

ข้อคิดที่ ๔ : องค์ความรู้ในการทำงาน  

พิเชษฐ กลั้นชื่นแดนซ์คอมพานีได้ถอดรื้อและสร้างองค์ความรู้จากรำไทย มาใช้ในการสร้างงาน โดยมีกระทวนท่าทั้งหมด 59 กระบวนท่า องค์ความรู้ได้รับการนำมาใช้ในฐานะที่เป็นความเข้าใจพื้นฐานเพื่อการความเข้าใจ การฝึกฝน และการต่อยอดสร้างสรรค์

ในการทำงานของก้อปันกัน นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับสถาบัน หลักสูตร และรายละเอียดการดำเนินการต่างๆแล้ว อะไรคือองค์ความรู้ของเราในการให้บริการเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อให้ธุรกิจคงอยู่และเติบโตได้ท่ามกลางการแข่งขัน?

คำถามนี้ค่อนข้างท้าทาย เรายังคงรู้สึกเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร  และยังไม่ได้ตั้งใจมากพอที่จะทำการศึกษาและสร้างสรรค์ในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม เราได้เริ่มต้นสร้างชุดความรู้ 21 บท ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อโครงการ XB Education การศึกษานอกกรอบ โดยมีเนื้อหาที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวกับทักษะการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อาทิ Stereotype, Classism, Racism, Sexism, Privilege และอื่นๆ

สามารถเข้าอ่านและรับชมได้ทางออนไลน์ที่ https://www.korpungun.com/xbeducation และเรายังมีหนังสือตีพิมพ์เป็นเล่มสำหรับการมอบให้นักเรียนที่ใช้บริการกับเราอีกด้วย

บทความบันทึกจากการเสวนาในหัวข้อ 4  ข้อคิดจากโรงละครช้าง จากพื้นที่ทางศิลปะ สู่บริการในการเรียนต่อต่างประเทศ ในงานไหว้ครูศิลปะการแสดงร่วมสมัย ที่โรงละครช้าง ปี ๒๕๖๒

กันต์พงศ์ ทวีสุข

—–

# ดูงานศิลปะแล้วได้อะไร?

Please follow and like us:
0