เจตนาของคนรุ่นก่อนในชุมชนมอญเมืองนนท์ : การรับรู้ของคนรุ่นใหม่ผู้มาเยือน

credit : feature image จาก Facebook Page นิตยสาร สารดี

สมัยเด็กผมเคยเดินทางไปทำบุญที่วัดมอญในเกาะเกร็ดร่วมกับครอบครัวฝั่งแม่ แม่เคยอธิบายไว้ว่าเรามาทำบุญที่วัดมอญเพราะครอบครัวแม่มีเชื้อสายมอญ ผมจึงได้ทราบว่าตนเองมีเชื้อสายมอญผสม อย่างไรก็ตามผมไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมมอญไปมากกว่านั้น และโดยปกติแล้วเมื่อพูดถึงช่วงเวลาที่ได้ร่วงโรยมาเนิ่นนานเป็นศตวรรษ อ้างอิงถึงหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือเล่าบุคคลสำคัญที่เคยได้สร้างวีรกรรม คุณงามความดีไว้ในอดีตโดยที่ข้อมูลเหล่านั้นยากที่จะเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นอยู่ของสรรพสิ่งในปัจจุบัน มันช่างยากที่จะอยู่กับปัจจุบันและทำความเข้าใจ ครั้งนี้ผมสามารถประติดประต่อเรื่องราวในอดีตได้บ้างโดยเฉพาะเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวมอญมาพักอาศัยในประเทศไทยและความสัมพันธ์ระหว่างชาวมอญและศาสนาพุทธ

ในการเดินทางเยือนวัดชมภูเวก ตำบลท่าทราย เมืองนนทบุรี วันที่ 2 กันยายน 2560 ผมได้พบปราชญ์ชุมชน สองท่าน ได้แก่ อาจารย์วีระโชติ ปั้นทองและอาจารย์พิศาล บุญผูก อาจารย์ทั้งสองได้แสดงให้เห็นถึงความมุมานะและความหลงใหลในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาและประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญเพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์และชุดความเชื่อทางจริยธรรมแด่คนรุ่นหลัง ผมได้รับรู้ถึงความสำคัญและเจตนาอันแน่วแน่ของอาจารย์ทั้งสองท่านในการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวมอญในประเทศไทย ในขณะเดียวกันผมก็ได้สังเกตเห็นความไม่ปะติดปะต่อระหว่างเจตนาของคนรุ่นก่อนและการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ในฐานะของผู้มาเยือน

อาจารย์วีระโชติเกิดในที่พื้น เคยเป็นเด็กวัดตั้งแต่วัยหกขวบ ร่วมผ่านสงครามโลกครั้งที่สองและ น้ำท่วมปี 2485 มากับวัดและชุมชน อีกทั้งยังมีพี่ชายเป็นเจ้าอาวาสรูปก่อน คือ พระครูไพศาลภัทรกิจ ผู้เข้ารับการอุปสมบทที่วัดปีพ.ศ. 2495 – 2550 อาจารย์สามารถเล่าถึงประวัติศาสตร์ของวัดและความเป็นมาชุมชนมอญในพื้นที่ได้อย่างละเอียดและปัจจุบันอาจารย์ป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวัด อาจารย์พิศาลมีเชื้อสายมอญโดยแท้และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษา อาจารย์ดูสุขุมและมีแววตาผ่องใสในขณะที่บรรยายเกี่ยวกับจิตกรรมโบราณภายในอุโบสถเก่าของวัดและเล่านิทานมอญพื้นบ้านเรื่องเมฆะลูกกวาง อาจารย์ได้แปลนิทานเรื่องดังกล่าวจากภาษามอญเป็นภาษาไทยโดยใช้เวลาประมาณกว่าสองปี

วัดและสงครามสัมพันธ์กันอย่างไร? “จะเป็นช่างอะไรก็แล้ว เมื่อไม่มีศึกสงครามก็จะมาสร้างวัด เมื่อมีสงคราม ช่างหนุ่มๆก็จะถูกเกณฑ์ไปรบกับพม่า” อาจารย์วีระโชติกล่าว ก่อนจะเล่าถึงการเดินทางของชาวมอญมาอาศัยในดินแดนของอยุธยา มอญกลุ่มแรกที่มาตั้งหลักปักฐานในดินแดนของอยุธยาคือมอญในสมัยพระชัยราชาธิราช หลังจากที่ชาวมอญได้เดินทางไปตีเมืองกาญจน์ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัยที่ตกทอดมาถึงอยุธยา เมื่อพระไชยราชาธิราชได้ทราบจึงได้ยกทัพไปตีเมืองคืน ชาวมอญในพื้นที่เมืองกาญจน์นั้นจึงได้สมัครใจมาอยู่ในดินแดนของอยุธยา ซึ่งวัดชมภูเวกเป็นวัดที่ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยชาวมอญในพื้นที่ อาจารย์ได้เล่าว่าฝีมือการออกแบบบุษบกที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทของวัดนั้นโดยบรรพบุรุษชาวมอญ พ่อปูหลังโบสถ์ถูกใช้เป็นที่แสดงการเคารพบูชาผู้นำมอญอพยพ อีกทั้งการตักบาตรน้ำผึ้งเป็นประเพณีมอญที่ปัจจุบันวัดยังคงจัดเป็นกิจกรรมประจำปีอยู่

“โบสถ์หลังนี้ถูกสันนิษฐานว่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์ ที่มีฝรั่งมาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเยอะ” อาจารย์พิศาลเล่าถึงโบสถ์เก่าแก่ภายในวัดที่มีรูปจิตกรรมพระแม่ธรณีบีบมวยผลอันลือชื่อ อีกทั้งอาคารของฝรั่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับหิมะ บริเวณขอบหลังคาจะพอดีกับกำแพงของโบสถ์จึงทำไม่มีกันสาด โบสถ์และวิหารหลังโบสถ์ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทได้ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบของสถาปัตยกรรมดังกล่าว ในขณะที่อาคารไทยจะถูกสร้างมากันฝนจึงต้องมีกันสาด โบสถ์เก่านี้มีชื่อเรียกว่าโบสถ์มหาอุดอีกด้วย อาจารย์อธิบาย “โบสถ์นี้ไม่มีประตูออกด้านหลัง คนโบราณถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องการบรรยายที่สงบ ไม่พลุกพล่านเพื่อใช้ในการประกอบจิตภาวนา”

นอกจากในส่วนของวัดแล้ว อาจารย์พิศาลได้พาเข้าชมพิพิธภัณฑ์วัดชมภูเวกซึ่งได้รวบรวมหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวมอญไว้ เวลาส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ได้ถูกใช้ไปในการพูดถึงนิทานพื้นบ้านและหลักคำสอน นิทานสอนมอญจะสอนเรื่องความขยันหมั่นเพียรและการทำดี อาจารย์พิศาลกล่าว “คนมอญถือเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมากเลย โดยเฉพาะผู้ชาย หากทำดีก็มีความสุข และจะได้ขึ้นสวรรค์ … จะพูดซ้ำพูดซากเลยว่าไปอยู่วัดต้องทำตัวอย่างไร เช่น ต้องดูแลครูบาอาจารย์ให้ดี ก่อนท่านนอนต้องไปปรับที่นอนเก็บกวาดให้ท่าน ท่านหลับแล้วค่อยๆย่องออกมา ตื่นเช้า ต้องตื่นก่อนอาจารย์ ครูบาอาจารย์พูดยังไงให้เชื่อฟัง อย่าเถียง อยู่กับเพื่อนต้องแบ่งปันกัน” และอาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศนโยบายการส่งเสริมค่านิยม 12 ประการ อาจารย์ได้ทำส่งไปเรื่องเสนอให้ใช้นิทานพื้นบ้านของมอญในการสอนเพื่อสนับสนุนปลูกฝังชุดค่านิยมนี้

เจตนารมณ์ของอาจารย์ทั้งสองได้ช่วยรักษาความรู้และความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของชาวมอญไว้สำหรับคนรุ่นหลังในการศึกษาที่มาที่ไปของพวกเขา อย่างไรก็ตามสำหรับอีกเจตนาหนึ่งในการอนุรักษ์ซึ่งเป็นความต้องการที่จะส่งต่อชุดความเชื่อทางจริยธรรมแบบสำเร็จรูปจากรุ่นสู่รุ่น ผมไม่รู้สึกถึงความปะติดปะต่อระหว่างเจตนาของคนรุ่นก่อนและการรับรู้ของผมในฐานะของผู้มาเยือน

กันต์พงศ์ ทวีสุข

Please follow and like us:
0