ฉันเคยบวชเป็นพระห่มขาวที่สวมหน้ากากเพื่อป้องกันเชื้อโรคและแมลงเป็นเวลา ๙ พรรษา เมื่อฉันมีอายุ ๑๘ ปี ฉันได้รับหนังสืออัตชีวประวัติของคานธี มันเปลี่ยนแนวคิดต่อการใช้ชีวิตของฉัน คานธีได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า ในการปฎิบัติทางจิตวิญญาณ คุณไม่จำเป็นต้องละทิ้งชีวิตทางโลก จิตวิญญาณไม่ใช่สิ่งที่อยู่แยกออกจากชีวิตทางโลก เพียงด้วยแรงบันดาลใจและความตั้งใจที่เป็นธรรม คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งจิตวิญญาณ จิตวิญญาณมีอยู่ทุกแห่งหนและทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ทุกเมื่อ ฉันเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ในฐานะของพระฉันเคยมองโลกใบนี้เสมือนกับสิ่งที่ควรจะถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ แต่คานธีกล่าวว่า คุณต้องเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไม่ใช่ช่วยให้เพียงแต่ตัวของคุณเองหลุดพ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฉันจะไม่ขึ้นสู่สรวงสวรรค์จนกว่าทุกชีวิตจะตรัสรู้” นี่คือความเสมอภาคขั้นสูงสุด (Ultimate Democracy) ที่คานธีมีอยู่ในหัวใจของเขา ความเสมอภาคขั้นสูงสุดให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกสรรพสิ่งรวมถึง มนุษย์ โลก พื้นดิน สายน้ำ และทุกสิ่งมีชีวิต หลังจากนั้นวิถีชีวิตของฉันได้เปลี่ยนไปด้วยการปฎิบัติทางจิตวิญญาณและเดินจาริก คานธีสอนให้ฉันเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยการทำงานที่เปี่ยมไปด้วยปิติสุข
ในปัจจุบัน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยล้วนมุ่งสอนให้เราคิด การศึกษากระแสหลักส่วนใหญ่เกี่ยวกับสมองและเป็นวิชาการเสียมาก นักเรียนได้รับการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อการสร้างหรือการรับรู้ถึงการใช้อารมณ์ความรู้สึกเลย
การศึกษารูปแบบใหม่สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมุมมองของคานธีต้องไม่มุ่งเน้นไปที่สมองเพียงเท่านั้น แต่ควรรวมเรื่องของจิตใจและสองมือเข้าไว้ด้วย ความคิดทำงานในสมองและความรู้ที่ขาดประสบการณ์ในการลงมือทำเป็นเพียงครึ่ง ความรู้ที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความรู้นั้นถูกนำมาปฎิบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความรู้และประสบการณ์เปรียบได้กับปีกทั้งสองของนกตัวหนึ่ง ณ ตอนนี้ เยาวชนได้รับการอบรมสั่งสอนเพียงเพื่อการพัฒนาความรู้โดยปราศจากการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ซึ่งเปรียบได้เสมือนกับนกที่กำลังบินด้วยปีกเพียงข้างเดียว ทักษะการคิคและความรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องการผู้คนที่มีทักษะทางความคิดและความรู้ที่มีความรู้สึกในจิตใจซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเคารพ ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความจริง ความสวยงาม และความดีงาม คุณค่าเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนทางด้านธุรกิจ โรงเรียนทางด้านเทคโนโลยี หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนรู้สึกถึงมันได้ในจิตใจ ดังนั้นการศึกษาทางด้านสมองและจิตใจคือ ๒ ลักษณะแรกที่สำคัญต่อการศึกษาใหม่ในมุมมองของคานธี
มิติที่ ๓ ของการศึกษาใหม่นี้ เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถสร้างบางสิ่งขึ้นด้วยมือของเรา มือทั้งสองเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่ธรรมชาติได้มอบให้แก่เรา เราควรเรียนรู้ที่จะสร้างบางสิ่งขึ้นด้วยมือของเรา ทุกวันนี้นักเรียนอาจจะเรียนรู้ที่จะใช้มือบนคีย์บอร์ดหรือไอโฟน แต่นอกจากนี้แล้วพวกเขาใช้มือเพื่อทำอะไรบ้าง? ด้วยสองมือเราสามารถสร้างพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ เราสามารถปั้นเพื่อเปลี่ยนดินเหนียวชิ้นหนึ่งให้เป็นภาชนะดินเผาที่สวยงาม เราสามารถนำไม้ชิ้นหนึ่งมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สง่างาม เราสามารถนำใยฝ้าย ลินิน ใยไหมมาทำเป็นเสื้อผ้าชิ้นงดงาม
และถึงแม้การศึกษาในวันนี้จะการให้ข้อมูลและความรู้จำนวนมาก แต่ทว่ามันยังจำกัดคับแคบมากอีกด้วย ในมหาวิทยาลัยโรงเรียนธุรกิจหรือเทคโนโลยีได้รับเงินสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในทางกลับกันโรงเรียนทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ดุริยางค์หรือการเต้นรำถูกตัดงบประมาณลงอย่างต่อเนื่อง ทำไมธุรกิจถึงสำคัญนัก? และทำไมเราให้เกียรติแก่ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ปรัชญา จิตวิญญาณและคุณค่าของความเป็นมนุษย์น้อยลง?
เรากำลังให้ความใส่ใจและความมุ่งมั่นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร้จุดหมาย ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถที่จะมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตได้อย่างไร้ขีดจำกัดในโลกที่มีขอบเขต ทุกคนควรจะเข้าใจถึงความขัดแย้งนี้ให้ได้ การเจริญเติบโตนี้ต้องใช้อะไรบ้าง? โครงสร้างพื้นฐานที่มากขึ้น เช่น จำนวนสนามบินเพิ่มขึ้น? เมื่อฉันมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ฉันได้สังเกตเห็นป้ายอันใหญ่เขียนว่า “ความภาคภูมิใจของประเทศไทย” ทันใดนั้นฉันได้กล่าวออกมาว่า “ว้าว สนามบินนี้คือความภาคภูมิใจของประเทศไทย” เกิดอะไรขึ้นกับวัฒนธรรม การเต้นรำ งานดนตรี งานเขียนของไทยที่เราควรจะภูมิใจ? เมื่อเราได้สร้างสนามบิน รางรถไฟ ถนนและตึกทั่วประเทศแล้วเราจะเจริญเติบโตอย่างไรต่อล่ะ?
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ ๒ ปัจจัยหลักคือ ความอิจฉาริษยาและความโลภ ผู้ที่ไม่มีหรือมีน้อยอิจฉาผู้ที่มีหรือมีมาก อาทิ ผู้ที่มีรถมอเตอร์ไซค์อิจฉาผู้ที่มีรถยนต์ ผู้ที่มีรถยนต์หนึ่งคันอิจฉาผู้ที่มีสองคัน กล่าวคือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันขึ้นอยู่กับแนวคิดที่ผู้ที่ีีไม่มีหรือมีน้อยถูกปลูกฝังและผลักดันโดยสังคม สื่อ โฆษณา การศึกษา รัฐบาล นักธุรกิจให้รู้สึกว่าความอิจฉานั้นดี ดังนั้นจงอิจฉาและบริโภคให้มากขึ้น
ถ้าหากว่าเราต้องการความยั่งยืน เราต้องข้ามจากวิถิชีวิตในฐานะผู้บริโภคมาเป็นผู้สร้าง ในหลักปรัชญาของศาสนาฮินดูเกี่ยวกับการสร้าง การสร้างไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและจบลงแต่เป็นสิ่งที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มันมีชื่อว่า การเต้นรำแบบซาบา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางจิตใจ การเคลื่อนไหวของมือ การเคลื่อนไหวของริมฝีปากหรือแม้แต่การเดินบนโลกล้วนเป็นการเต้นรำแบบซาบา การเคลื่อนไหวของต้นไม้จากเมล็ดสู่ต้นกล้า สู่ต้นไม้ สู่กิ่งก้าน สู่ใบไม้ สู่ดอกไม้ บานสู่ผลไม้และกลับสู่เมล็ดก็เป็นส่วนหนึ่งของการเต้นรำแบบซาบา ในเมื่อการสร้างนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเราทุกคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างนี้ เราต้องนำการศึกษาที่ครอบคลุมถึงเรื่องของสมอง จิตใจและสองมือกลับมาเพื่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างนี้ โดยเฉพาะการศึกษาที่เน้นจิตใจและสองมือที่ถูกละเลย เราต้องให้ความสำคัญกับมันมากขึ้นเป็นพิเศษ
ถ้าหากว่าเราจะจัดงานบรรยายเพื่อรำลึกถึงคานธี สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่เพียงระลึกถึงคานธี แต่เราควรสร้างการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญแก่ธุรกิจและธนาคารในระดับ“โอเค” ฉันไม่ได้ต่อต้านธุรกิจ ธนาคารและการเงิน แต่สิ่งเหล่านี้ควรถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่แห่งความเหมาะสมเพื่อที่มันจะได้ไม่ครอบงำชีวิตของเรา ในปัจจุบันพนักงานธนาคารอาจจะได้เงินค่าตอบแทนการทำงานวันละ ๘๐๐บาท (โดยสมมุติ) แต่ว่าชาวนา ช่างทำภาชนะดินเผา ช่างทำเฟอร์นิเจอร์อาจจะได้ค่าตอบแทนวันละ ๓๐๐บาท ทำไมถึงเป็นแบบนี้ล่ะ? เราไม่สามารถมีชีวิตได้โดยปราศจากอาหาร เราคงไม่จะกินคอมพิวเตอร์ ธนบัตร บัตรอเมริกันเอ็กซ์เพลสหรือบัตรวีซ่าเป็นอาหาร ถ้าปราศจากข้าวคงไม่มีใครสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ทำไมชาวนาไม่มีเกียรติและยังต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิต ในระบบเศรษฐกิจที่ออกแบบโดยคานธี เราคงจะได้เห็น ชาวนา ช่างเครื่องปั้นดินเผา ชาวสวนและช่างทำเฟอร์นิเจอร์มีรายได้ ๘๐๐ บาทต่อวัน ในขณะที่พนักงานธนาคารจะมีรายได้ ๓๐๐ บาทต่อวัน นี่คือความคิดของคานธีในการให้เกียรติต่อแรงงานมนุษย์เพื่อส่งเสริมให้คนเป็นผู้สร้างมากกว่าการเป็นผู้บริโภค
ความขาดแขลน (scarcity) คือความคิดในหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อคุณเริ่มเรียนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสิ่งแรกๆที่คุณจะเรียนคือเรื่อง ความคลาดแขลน แต่ความคลาดแขลนไม่มีอยู่ในหลักการเจริญเติบโตของธรรมชาติ เมื่อนำเมล็ดแอ๊ปเปิ้ลเมล็ดหนึ่งมาปลูกลงดิน เมล็ดพันธุ์นั้นจะเติบโตเป็นต้นไม้ กิ่งก้านจะแตกยอด ใบไม้และดอกของมันจะงอกงามมีสีสรรที่สวยสดและน่าชื่นชม การเจริญเติบโตทางเศรฐษกิจโดยแท้จริง คือ การเจริญเติบโตของธรรมชาติที่เมล็ดพันธุ์ขนาดเล็กเมล็ดหนึ่งได้ผลิตลูกแอ๊ปเปิ้ลจำนวนนับไม่ถ้วนในช่วงอายุไขของมัน มันไม่ใช่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแนวยาวที่จะโตและจบลงด้วยความสุขอันล้นพ้น ความสุขอันล้นพ้นและความคลาดแขลนคือสิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหลักธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยั่งยืนเพราะมันเป็นวัฎจักรของการเกิดและขยายจากเมล็ดพันธ์ุ สู่ต้นไม้สู่ผลไม้และสู่เมล็ดพันธ์ุอีกครั้ง
เราต้องเรียนรู้่จากธรรมชาติเพราะว่าธรรมชาติคือครูที่ยิ่งใหญ่ พวกเราได้หลงลืมและคิดไปว่าความรู้อยู่ในหนังสือ กูเกิ้ลหรือคอมพิวเตอร์ แต่ความรู้ที่แท้จริงอยู่ในธรรมชาติด้วย สังคมสมัยใหม่ถูกตัดออกจากธรรมชาติพวกเราเป็นคนรุ่นที่ไร้ความสัมพันธ์กับธรรมชาติและไร้ความเมตตาโดยสิ้นเชิง เราอาจเข้าใจว่าผู้คนในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพ โตเกียว นิวเดลี มุมไบกำลังใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อารยธรรม (civilization) ครั้งหนึ่งคานธีได้ถูกถามว่าเขาคิดอย่างไรกับอารยธรรมตะวันตก เขาตอบว่า “ฉันคิดว่ามันดีนะ แต่ว่าอารยธรรมอยู่ที่ไหนล่ะ คุณช่วยแสดงให้ฉันเห็นทีได้ไหม? มันคืออารยธรรมที่สร้างสงคราม ความยากจน การแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นสิ่งใด (exploitation) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการแข่งขันด้วยโทสะนะเหรอ? ถ้าใช่ ฉันไม่ต้องการมันและจะออกให้ห่างจากมันซะ”
สิ่งที่คานธีได้จารึกไว้เกี่ยวกับความยั่งยืน คือพวกเราต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตที่มีส่วนผสมระหว่างความเรียบง่ายและความสวยงาม ความเรียบง่ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่สง่างาม ในการที่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของคานธี พวกเราต้องปลดปล่อยตัวเองจากความกลัวต่างๆ เช่น อะไรจะเกิดขึ้นในวันถัดไป? อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อฉันแก่ตัวลง? อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อฉันเจ็บป่วย? การปลดปล่อยนี้คือขั้นตอนแรกของการสร้างอนาคตอันยั่งยืน พวกเราได้รับการอบรมสั่งสอนให้หวั่นกลัวต่ออนาคต ดังนั้นการปลดปล่อยนี้จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้อย่างสวยงาม หลังจากนั้นในทางปฎิบัติเราต้องปฏิรูประบบการศึกษาของเราโดยส่งเสริมให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติของโลกใบนี้และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยสมอง จิตใจและสองมือ นี่คือการศึกษาขั้นพื้นฐานในมุมมองของคานธี